เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน1 จงถือ
เอานิมิต2ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น

พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ
โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[244] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป

เชิงอรรถ :
1 ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับ
วิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน (วิ.อ. 3/
243/164, สารตฺถ.ฏีกา 3/443/352-353)
2 ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (สารตฺถ.ฏีกา
3/243/353)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :8 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ไม่มี
อาสวกิเลส อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ หลุด
พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไปในฐานะ 61 คือ

1. น้อมไปในเนกขัมมะ 2. น้อมไปในปวิเวก
3. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน 4. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
5. น้อมไปในความสิ้นตัณหา 6. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง

พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็น
อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็น
ว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
เนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโมหะ
เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
ต้องการลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก’ แต่ข้อนี้ก็ไม่
พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน

เชิงอรรถ :
1 น้อมไป หมายถึงบรรลุอย่างประจักษ์ชัด
ฐานะ 6 หมายถึงพระอรหัตตผล พระอรหัตตผล ชื่อว่าการออกจากกาม (เนกขัมมะ) เพราะออกไป
จากกิเลสทุกอย่าง ชื่อว่าความสงัด (ปวิเวก) เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน
(อัพยาปัชชะ) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ขื่อว่าความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้นใน
ที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน ชื่อว่าความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา
ชื่อว่าความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะไม่มีความลุ่มหลง (วิ.อ. 3/243/164-165)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :9 }